ทนายความ ทนาย สำนักงานทนายความ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาทนายความ ว่าจ้างทนายความ

จ้างทำของ

ก่อสร้าง 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 7 จ้างทำของ

มาตรา 588 เครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ทำการงานให้สำเร็จนั้น ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา

มาตรา 589 ถ้าสัมภาระสำหรับทำการงานที่กล่าวนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา ท่านว่าต้องจัดหาชนิดที่ดี

มาตรา 590 ถ้าสัมภาระนั้นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหามาส่งท่านให้ผู้รับจ้างใช้สัมภาระด้วยความระมัดระวังและประหยัดอย่าให้เปลืองเสียเปล่า เมื่อทำการงานสำเร็จแล้ว มีสัมภาระเหลืออยู่ก็ให้คืนแก่ผู้ว่าจ้าง

มาตรา 591 ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน

มาตรา 592 ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลาที่ทำอยู่นั้น

มาตรา 593 ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันสมควรหรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้า โดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย

มาตรา 594 ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไป ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

มาตรา 595 ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้ ความรับผิดของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ ลักษณะซื้อขาย

มาตรา 596 ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา เมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

มาตรา 597 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า

มาตรา 598 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิเอื้อน โดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบหรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย

มาตรา 599 ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดี ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร

มาตรา 600 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่อง เพียงแต่ที่ปรากฎขึ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฎขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้

                  แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฎว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น

มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฎขึ้น

มาตรา 602 อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ

                  ถ้าการที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งรับกันเป็นส่วนๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วนๆไซร้ ท่านว่าพึงใช้สินจ้างเพื่อการแต่ละส่วนในเวลารับเอาส่วนนั้น

มาตรา 603 ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้นพังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศอันนั้นตกเป็นพับแก่ผู้รับจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็นเพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง

                   ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้ 

มาตรา 604 ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้นพังทนายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ท่านว่าความวินาศนั้นตกเป็นพับแก่ผู้ว่าจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็นเพราะการกระทำของผู้รับจ้าง

                   ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้ เว้นแต่ความวินาศนั้นเป็นเพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง

มาตรา 605 ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใดผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

มาตรา 606 ถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้างและผู้รับจ้างตายก็ดี หรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทำการที่รับจ้างนั้นต่อไปได้ด้วยมิใช่เพราะความผิดของตนก็ดี ท่านว่าสัญญานั้นย่อมเป็นอันสิ้นลง

                  ถ้าและการส่วนที่ได้ทำขึ้นแล้วนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างไซร้ ท่านว่าผู้ว่าจ้างจำต้องรับเอาไว้และใช้สินจ้างตามสมควรแก่สิ่งนั้นๆ

มาตรา 607 ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้ เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆของผู้รับจ้างช่วง

 คำพิพากษาศาลฎีกาย่อ

 -เมื่อมีการผิดสัญญา แม้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม คู่สัญญาฝ่ายนั้นอาจไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาก็ได้ แต่มีสิทธิฟ้องบังคับให้ปฎิบัติตามสัญญาได้ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่งและเรียกค่าเสียหายได้ตามมาตรา 213 วรรคท้าย (ฎ.6705/2541)

-แต่ถ้าใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วจะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามมูลหนี้อีกไม่ได้ คงเรียกได้แต่ค่าเสียหาย (ฎ.2568/2521,982/2513 ป.)

-คู่สัญญาอาจตกลงทำสัญญาเลิกสัญญากันเองโดยสมัครใจก็ได้ (ฎ.4923/2546,2614/2543,6327/2549,2569/2556)

-การเลิกสัญญาโดยสมัครใจ อาจตกลงเลิกสัญญากันโดยชัดแจ้ง หรือ มี พฤติการณ์ที่ถือว่าสัญญาเลิกกันโดยปริยายก็ได้ เช่น คู่สัญญาต่างไม่ติดใจเรียกร้องให้อีกฝ่ายปฎิบัติตามสัญญาอีกต่อไป (ฎ.8188/2554,6990/2542,7618/2542)

-ต่างฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกันโดยไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา (ฎ.5435/2546,6746/2547)

-ฝ่ายที่ผิดสัญญาบอกเลิกสัญญาแต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับขอใช้สิทธิริบเงินมัดจำ (ฎ.8175/2554)

-การที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสิทธิ แม้คู่สัญญาอีกฝ่ายจะไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการบอกเลิกสัญญาก็ตาม ก็ไม่ทำให้สัญญาเลิกกัน (ฎ.5876/2541)

-กรณีตกลงกันให้เลิกสัญญากันเมื่ออีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ในกำหนด แต่ตามพฤติการณ์คู่สัญญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ สัญญายังไม่เลิก (ฎ.4765/2549)

-การบอกเลิกสัญญาเป็นนิติกรรมที่ไม่มีแบบ ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงอาจบอกเลิกสัญญาโดยปริยายก็ได้ แต่ต้องทำโดยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง (ฎ.4645/2540,654-655/2541)

-เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วจะถอนไม่ได้ (ฎ.1900/2542)                                                                                                                                                                               

-แม้การบอกเลิกสัญญาจะไม่ชอบด้วยมาตรา 387 แต่การที่ต่างฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญา ถือว่าต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย (ฎ.2569/2556)

 -คือ การที่วัตถุประสงค์ของสัญญา ซึ่งโดยสภาพหรือเจตนาของคู่สัญญาจะสำเร็จได้ด้วยการชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด หรือ เป็นกรณีที่กำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ หากฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด อีกฝ่ายบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวตามมาตรา 387 ก่อน (ฎ.1856/2523,44/2532,845/2541)

-แต่ถ้าคู่สัญญาไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา กลับให้อีกฝ่ายปฎิบัติตามสัญญาต่อไป เช่นนี้ถือว่า คู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ต้องบอกกล่าวตามมาตรา 387 ก่อน (ฎ.2791-2792/2524)                                                                                                                                                                                  

-ผู้ว่าจ้างต้องชดใช้ค่าก่อสร้างที่ผู้รับจ้างทำไปแล้ว จะให้ผู้รับจ้างรื้องานที่ทำไปแล้วไม่ได้ (ฎ.175/2521,3322/2528)

-ข้อตกลงสละสิทธิค่าแห่งการงาน มีผลบังคับกันได้ (ฎ.2165/2556)

-คู่สัญญาอาจตกลงกันล่วงหน้า ถ้ามีการเลิกสัญญาให้ผู้ว่าจ้างริบงานที่ทำไว้แล้วได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องชดใช้ค่าการงานเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิม (ฎ.458-459/2524 ป.) เป็นข้อตกลงที่ใช้ได้มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับศาลมีอำนาจลดได้ตามมาตรา 383 (ฎ.9514/2544)

-การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน พิจารณาจากมูลค่างานที่ทำให้ตามความเป็นจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดงานในสัญญามาเป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะตามสัญญาอาจกำหนดสิ่งที่ไม่ใช่ค่าของงานลงไปด้วย (ฎ.7618/2552)

-เมื่อบอกเลิกสัญญาโดยชอบ ม.391 วรรคแรก แล้วสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจึงเป็นอันสิ้นสุดลง คู่สัญญาจะฟ้องบังคับให้ปฎิบัติตามสัญญาอีกไม่ได้ (ฎ.5363/2545,2431/2552)

-ถ้าต้องใช้เงินคืนให้แก่กัน ให้บวกดอกเบี้ย หากไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญา ให้คิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ม.391 วรรคสอง ตามมาตรา 7 (.ฎ.1378/2546 )

-เมื่อใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้อีก ตามมาตรา 391 วรรคสี่ กล่าวคือ ไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นจากการที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ (ฎ.2956/2548 )  

- ค่าจ้างงวดสุดท้าย และ ค่าจ้างงานเพิ่มเติม  ค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)  (ฎ.3358/2560)

 

 


  • การจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง การว่าจ้างก่อสร้างไม่ว่าจะเป็น ที่พักอาศัย สถานประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ต่อเติม แม้ว่ากฎหมายจะระบุว่า เป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่จำเป็นต้อง จัดทำเป็นสัญญา แต...
Visitors: 174,896
รับว่าความ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ