ทนายความ ทนาย สำนักงานทนายความ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาทนายความ ว่าจ้างทนายความ

ก่อสร้าง

ก่อสร้าง 

ก่อสร้าง หรือ ผิดสัญญาก่อสร้าง ซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ปพพ.มาตรา 587 บัญญัติว่า "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น" ในกรณีที่มีการว่าจ้างก่อสร้างไม่ว่าจะเป็น ก่อสร้างบ้านพักอาศัย อาคารเพื่อการพาณิชย์ ฯ ต่อเติม รื้อถอน หรือก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ นั้น มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง ภายหลังการก่อสร้าง เช่น ผู้รับเหมาทิ้งงาน ทำงานไม่เรียบร้อย ทำผิดแบบ ล่าช้า  หากผู้ว่าจ้างไม่มีความรู้ด้านการก่อสร้าง ก็ควรจ้างวิศวกรควบคุมอาคาร มาช่วยตรวจสอบการทำงาน หากเป็นการทำงานล่าช้า ต้องพิจารณาว่าเหตุล่าช้านั้นเกิดจากสาเหตุใด เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เป็นเหตุที่ยกเว้นไว้ในสัญญาหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็สามารถบอกกล่าวให้รีบดำเนินงาน หรือ อาจเป็นเหตุให้บอกเลิกสัญญาได้ การว่าจ้างก่อสร้างควรทำเป็นสัญญา ระบุงวดงานเป็นงวดๆ ให้ชัดเจน ให้มีการจ่ายเงินตามความเหมาะสมของงวดงาน และมีการส่งมอบงาน ตรวจรับมอบงาน เป็นลายลักษณ์อักษร นะครับ 

ขั้นตอนและรายละเอียดการก่อสร้าง  ต้องใช้ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้ง วิศวกร สถาปนิก ช่าง นักกฎหมาย นักบัญชี และเกี่ยวข้องกับ หน่วยงานราชการ เนื่องจากการก่อสร้างต้องใช้เงินจำนวนมาก และมีกำหนดแล้วเสร็จ และที่สำคัญต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำการก่อสร้าง ตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

คดีก่อสร้าง  เกิดขึ้นได้ตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง และจบด้วยการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม หรือ ศาลปกครอง ซึ่งการต่อสู้คดีกันก็ย่อมต้องใช้เวลายาวนาน เนื่องจาก ข้อพิพาท นอกจากจะต้องพิจารณาจาก เงื่อนไขในสัญญา ยังจะต้องพิจารณาจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในบางกรณี เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงยุติ ประกอบความเห็นในทางตัดสินคดีของศาล 

ข้อพิพาทที่มักเกิดขึ้นบ่อย (กรณีที่เกิดจากผู้รับจ้าง) เช่น การก่อสร้างล่าช้า ผลงานที่ก่อสร้างชำรุดบกพร่อง การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบ การใช้สัมภาระไม่ได้คุณภาพ การทิ้งงานก่อสร้าง การไม่รับประกันคุณภาพผลงาน  เป็นต้น (กรณีเกิดจากผู้ว่าจ้าง) เช่น การไม่จัดส่งสัมภาระ การสั่งการที่ผิดจากแบบ การไม่ชำระเงิน หรือความล่าช้าในการชำระเงิน การไม่ส่งมอบพื้นที่งานก่อสร้าง การสร้างภาระหรืออุปสรรคในการก่อสร้าง การไม่บอกกล่าวให้ระยะเวลาแก้ไขงาน  เป็นต้น

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่อง จ้างทำของ 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 7 จ้างทำของ

มาตรา 588 เครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ทำการงานให้สำเร็จนั้น ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา

มาตรา 589 ถ้าสัมภาระสำหรับทำการงานที่กล่าวนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา ท่านว่าต้องจัดหาชนิดที่ดี

มาตรา 590 ถ้าสัมภาระนั้นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหามาส่งท่านให้ผู้รับจ้างใช้สัมภาระด้วยความระมัดระวังและประหยัดอย่าให้เปลืองเสียเปล่า เมื่อทำการงานสำเร็จแล้ว มีสัมภาระเหลืออยู่ก็ให้คืนแก่ผู้ว่าจ้าง

มาตรา 591 ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน

มาตรา 592 ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลาที่ทำอยู่นั้น

มาตรา 593 ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันสมควรหรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้า โดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย

มาตรา 594 ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่องหรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไป ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

มาตรา 595 ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้ ความรับผิดของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ ลักษณะซื้อขาย

มาตรา 596 ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา เมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

มาตรา 597 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า

มาตรา 598 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิเอื้อน โดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบหรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย

มาตรา 599 ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดี ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร

มาตรา 600 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่อง เพียงแต่ที่ปรากฎขึ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฎขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้

                  แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฎว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น

มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฎขึ้น

มาตรา 602 อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ

                  ถ้าการที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งรับกันเป็นส่วนๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วนๆไซร้ ท่านว่าพึงใช้สินจ้างเพื่อการแต่ละส่วนในเวลารับเอาส่วนนั้น

มาตรา 603 ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้นพังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศอันนั้นตกเป็นพับแก่ผู้รับจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็นเพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง

                   ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้ 

มาตรา 604 ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้นพังทนายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ท่านว่าความวินาศนั้นตกเป็นพับแก่ผู้ว่าจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็นเพราะการกระทำของผู้รับจ้าง

                   ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้ เว้นแต่ความวินาศนั้นเป็นเพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง

มาตรา 605 ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใดผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

มาตรา 606 ถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้างและผู้รับจ้างตายก็ดี หรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทำการที่รับจ้างนั้นต่อไปได้ด้วยมิใช่เพราะความผิดของตนก็ดี ท่านว่าสัญญานั้นย่อมเป็นอันสิ้นลง

                  ถ้าและการส่วนที่ได้ทำขึ้นแล้วนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างไซร้ ท่านว่าผู้ว่าจ้างจำต้องรับเอาไว้และใช้สินจ้างตามสมควรแก่สิ่งนั้นๆ

มาตรา 607 ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้ เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆของผู้รับจ้างช่วง

 ตัวอย่างคดีความต่างๆ จากแนวคำวินิจฉัยคำพิพากษาศาลฎีกา  ประเด็นการบอกเลิกสัญญา

 -เมื่อมีการผิดสัญญา แม้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม คู่สัญญาฝ่ายนั้นอาจไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาก็ได้ แต่มีสิทธิฟ้องบังคับให้ปฎิบัติตามสัญญาได้ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่งและเรียกค่าเสียหายได้ตามมาตรา 213 วรรคท้าย ฎ.6705/2541

-แต่ถ้าใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วจะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามมูลหนี้อีกไม่ได้ คงเรียกได้แต่ค่าเสียหาย ฎ.2568/2521,982/2513 ป.

-คู่สัญญาอาจตกลงทำสัญญาเลิกสัญญากันเองโดยสมัครใจก็ได้ ฎ.4923/2546,2614/2543,6327/2549,2569/2556

-การเลิกสัญญาโดยสมัครใจ อาจตกลงเลิกสัญญากันโดยชัดแจ้ง หรือ มี พฤติการณ์ที่ถือว่าสัญญาเลิกกันโดยปริยายก็ได้ เช่น คู่สัญญาต่างไม่ติดใจเรียกร้องให้อีกฝ่ายปฎิบัติตามสัญญาอีกต่อไป ฎ.8188/2554,6990/2542,7618/2542

-ต่างฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกันโดยไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา ฎ.5435/2546,6746/2547

-ฝ่ายที่ผิดสัญญาบอกเลิกสัญญาแต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับขอใช้สิทธิริบเงินมัดจำ ฎ.8175/2554

-การที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสิทธิ แม้คู่สัญญาอีกฝ่ายจะไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการบอกเลิกสัญญาก็ตาม ก็ไม่ทำให้สัญญาเลิกกัน ฎ.5876/2541

-กรณีตกลงกันให้เลิกสัญญากันเมื่ออีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ในกำหนด แต่ตามพฤติการณ์คู่สัญญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ สัญญายังไม่เลิก ฎ.4765/2549

-การบอกเลิกสัญญาเป็นนิติกรรมที่ไม่มีแบบ ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงอาจบอกเลิกสัญญาโดยปริยายก็ได้ แต่ต้องทำโดยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ฎ.4645/2540,654-655/2541

-เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วจะถอนไม่ได้ ฎ.1900/2542                                                                                                                                                                               

การบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 387 

-คือ กรณีที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญา ได้ ต้องบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน จะบอกเลิกสัญญาในทันทีไม่ได้

-แม้การบอกเลิกสัญญาจะไม่ชอบด้วยมาตรา 387 แต่การที่ต่างฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญา ถือว่าต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย ฎ.2569/2556

 การบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 388

-คือ การที่วัตถุประสงค์ของสัญญา ซึ่งโดยสภาพหรือเจตนาของคู่สัญญาจะสำเร็จได้ด้วยการชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด หรือ เป็นกรณีที่กำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ หากฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด อีกฝ่ายบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวตามมาตรา 387 ก่อน ฎ.1856/2523,44/2532,845/2541

-แต่ถ้าคู่สัญญาไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา กลับให้อีกฝ่ายปฎิบัติตามสัญญาต่อไป เช่นนี้ถือว่า คู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ต้องบอกกล่าวตามมาตรา 387 ก่อน ฎ.2791-2792/2524                                                                                                                                                                                    

ผลของการเลิกสัญญา ม.391-394

-เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลังคืนสู่ฐานะเดิม แต่ไม่เป็นที่เสื่อมสิทธิแก่บุคคลภายนอก ส่วนเงินที่ใช้คืนให้บวกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ได้รับไว้  ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น  ให้ใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น การเลิกสัญญาไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย

-เมื่อได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว มีผลตามมาตรา 391 คือ คู่กรณีแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม  (ส่วนมากเป็นเรื่องจ้างทำของ)

-ผู้ว่าจ้างต้องชดใช้ค่าก่อสร้างที่ผู้รับจ้างทำไปแล้ว จะให้ผู้รับจ้างรื้องานที่ทำไปแล้วไม่ได้ ฎ.175/2521,3322/2528

-ข้อตกลงสละสิทธิค่าแห่งการงาน มีผลบังคับกันได้ ฎ.2165/2556

-คู่สัญญาอาจตกลงกันล่วงหน้า ถ้ามีการเลิกสัญญาให้ผู้ว่าจ้างริบงานที่ทำไว้แล้วได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องชดใช้ค่าการงานเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิม ฎ.458-459/2524 ป. เป็นข้อตกลงที่ใช้ได้มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับศาลมีอำนาจลดได้ตามมาตรา 383 ฎ.9514/2544

-การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน พิจารณาจากมูลค่างานที่ทำให้ตามความเป็นจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดงานในสัญญามาเป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะตามสัญญาอาจกำหนดสิ่งที่ไม่ใช่ค่าของงานลงไปด้วย ฎ.7618/2552

-เมื่อบอกเลิกสัญญาโดยชอบ ม.391 วรรคแรก แล้วสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจึงเป็นอันสิ้นสุดลง คู่สัญญาจะฟ้องบังคับให้ปฎิบัติตามสัญญาอีกไม่ได้ ฎ.5363/2545,2431/2552

-ถ้าต้องใช้เงินคืนให้แก่กัน ให้บวกดอกเบี้ย หากไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญา ให้คิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ม.391 วรรคสอง ตามมาตรา 7.ฎ.1378/2546 

-เมื่อใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้อีก ตามมาตรา 391 วรรคสี่ กล่าวคือ ไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นจากการที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ฎ.2956/2548   

อายุความ 

-ฎ.3358/2560 จำเลยที่ 1 อ้างว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกเอา ค่าจ้างงวดสุดท้าย และ ค่าจ้างงานเพิ่มเติม จากจำเลยที่ ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องอายุความตามฟ้องของโจทก์นั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ทั้งหมด เมื่อตอนท้ายมาตรา 193/34 (1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่การใช้สิทธิเรียกร้อง ค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า หนี้ค่าการงานในส่วนนี้ของโจทก์มีอายุความตามหลัก 2 ปี หรือมีอายุความตามข้อยกเว้น 5 ปี แม้โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่เข้าข่ายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง

 สัญญาขัดต่อกฎหมาย

-ฎ.1190/2560  โจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ซึ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้แล้วว่าโจทก์กับนิติบุคคลต่างประเทศ 2 ราย ดังกล่าว ทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับจำเลยโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีส่วนร่วมในการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นผลให้สัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย แม้โจทก์กับพวกจะทำงานตามสัญญาจ้างเหมานั้นเสร็จสิ้นแล้วโดยส่งมอบโครงการทางด่วนให้จำเลยรับไปและมีราคาคงที่เพิ่มเติมภายหลังก็ตาม ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานะลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

 


  • การจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง การว่าจ้างก่อสร้างไม่ว่าจะเป็น ที่พักอาศัย สถานประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ต่อเติม แม้ว่ากฎหมายจะระบุว่า เป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่จำเป็นต้อง จัดทำเป็นสัญญา แต...
Visitors: 164,979
รับว่าความ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ