ทนายความ ทนาย สำนักงานทนายความ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาทนายความ ว่าจ้างทนายความ

บริษัทจำกัด บจ.

บริษัทจำกัด 

-การตั้งบริษัทเกิดจากบุคคลตั้งแต่ 3 คน ขึ้นไป เรียกว่าผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท เข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณห์สนธิ 

-มูลค่าของหุ้นๆหนึ่ง ไม่ให้ต่ำกว่า 5 บาท ม.1117

-การโอนหุ้นชนิิดระบุชื่อต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนและมีพยานลงชื่อรับรองลายมืออย่างน้อย 1 คน มิฉะนั้นการโอนตกเป็นโมฆะ และต้องต้องระบุเลขหมายของหุ้นไว้ด้วย 

-แต่ถ้าการโอนหุ้นได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน และมีพยานรับรองลายมือชื่อแล้ว แม้ไม่ได้ระบุเลขหมายของหุ้นไว้ในหนังสือก็ไม่ทำให้การโอนตกเป็นโมฆะ ฎ.1127/2521,660/2525

-การที่ผู้โอนและผู้รับโอนต่างมีหนังสือไปถึงบริษัทขอให้จัดการโอนหุ้นให้ ไม่ใช่หนังสือโอนหุ้น ไม่ถูกต้องตามแบบต้องเป็นโมฆะ ฎ.1308/2515

-แม้หุ้นที่ยังไม่ออกใบหุ้น การโอนหุ้นก็ต้องปฎิบัติตามแบบมาตรา 1129 วรรคสอง เช่นกัน ฎ.2451/2551,523/2545

-การโอนหุ้นไม่ถูกต้องตามแบบ แต่ถ้าผู้รับโอนหุ้นได้ครอบครองหุ้นเกิน 5 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา 1382 ฎ.3395/2529

-การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องทำตามแบบมาตรา 1129 วรรคสอง ฎ.1521/2534

-การโอนหุ้นที่ใช้ยันบริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักงานของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว ม.1129 วรรคสาม

-ถ้าการโอนหุ้นได้กระทำโดยความรู้เห็นยินยอมของบริษัทแล้วก็ไม่จำต้องจดแจ้งการโอนอีก ฎ.3913/2531,478/2534 

-กรณีผู้รับโอนหุ้นเป็นกรรมการของบริษัท ต้องถือว่าบบริษัทรู้เห็นและยินยอมให้มีการโอนหุ้นแล้ว บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียน ฎ.2531/2538

-ผู้ถือหุ้นตายหรือล้มละลาย ผู้ที่ได้หุ้นมามีสิทธิไปขอให้บริษัทลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นได้ต่อไป มาตรา 1132

-การได้หุ้นมาจากการขายทอดตลาดในการบังคับคดีของศาล เป็นการได้หุ้นมาโดยเหตุบางอย่าง ตามมาตรา 1132 ฎ.2177/2522

-การโอนหุ้นที่ยังไม่ได้ใช้เงินเต็มจำนวนค่าหุ้น ผู้โอนยังคงต้องรับผิดในจำนวนที่ยังส่งใช้ไม่ครบ แต่ว่า

1.ผู้โอนไม่ต้องรับผิดในหนี้ของบริษัทซึ่งเกิดขึ้นภายหลังโอน

2.ผู้โอนไม่ต้องรับผิดออกส่วนใช้หนี้ เว้นแต่จะปรากฎต่อศาลว่าบรรดาผู้ที่ยังถือหุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงออกใช้ได้ ม.1133 วรรคหนึ่ง

-ห้ามมิให้ฟ้องผู้โอนเมื่อพ้น 2 ปี นับแต่ได้จดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

-ความรับผิดของผู้โอนในเงินค่าหุ้นที่ยังใช้ไม่ครบจึงหมายถึง ความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัท หาได้หมายความถึงความรับผิดต่อบริษัทไม่ ฎ.478/2534,2531/2538

การตั้งหรือถอนกรรมการ

-การตั้งหรือถอนกรรมการบริษัท ต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ ดังนี้ แม้มติที่ประชุมใหญ่ของบริษัทจะมีมติให้แต่งตั้งผู้ใดเป็นกรรมการตลอดไปก็ตาม การถอดถอนก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 1151 มติที่ประชุมใหญ่ของบริษัทที่ให้ถอดถอนกรรมการผู้นั้นออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎ.12046/2547

-การตั้งกรรมการต้องนำไปจดทะเบียน ม.1157 ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ตั้งทุกครั้ง การจดทะเบียนก็ต้องดำเนินการโดยกรรมการที่มีอำนาจ จึงต้องถือว่าบริษัทเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหรือตั้งกรรมการเอง 

-การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตั้งกรรมการ จึงต้องฟ้องบริษัทเป็นจำเลยโดยตรง เพื่อบังคับให้บริษัทจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไข จะฟ้องกรรมการผู้ที่นำความไปจดทะเบียนไม่ได้ ฎ.4551/2547

-ตำแหน่งกรรมการว่างลง ม.1159  ถ้ากรรมการน้อยลงจนไม่ครบองค์ประชุม กรรมการที่เหลืออยู่ทำกิจการได้ 2 อย่าง คือ เรื่องการเพิ่มกรรมการให้ครบจำนวน และนัดเรียกประชุมใหญ่ กรรมการที่เหลืออยู่จึงจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะคดีไม่ได้ ฎ.924/2539

การมอบอำนาจของกรรมการ ม.1164

-กรรมการจะมอบอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดของตนให้แก่ผู้จัดการ หรือให้แก่อนุกรรมการซึ่งตั้งขึ้นจากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกันก็ได้ ในการใช้อำนาจซึ่งได้มอบหมายเช่นนั้น ผู้จัดการทุกคนหรืออนุกรรมการทุกคนต้องทำตามคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งกรรมการทั้งหลายได้กำหนดให้ทุกอย่างทุกประการ

-กรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ม.1169 บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ ในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีขึ้นว่าก็ได้

การประชุมใหญ่ ม.1171-1195

-เมื่อมีการจดทะเบียนบริษัทแล้ว ให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียน และให้มีการประชุมใหญ่ครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อยทุกระยะ 12 เดือน การประชุมใหญ่นี้เรียกว่าประชุมสามัญ ม.1171 วรรคหนึ่งและวรรคสอง การประชุมใหญ่คราวอื่นเรียกว่าประชุมวิสามัญ ม.1171 วรรคสาม

 การประชุมวิสามัญโดยกรรมการบริษัท ม.1172 

-กรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร ถ้าบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจำนวนต้นทุนกรรมการต้องเรียกประชุมวิสามัญทันทีเพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบการที่ขาดทุนนั้น ม.1172 วรรคสอง

การประชุมวิสามัญโดยผู้ถือหุ้น ม.1173

-ผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 แห่งจำนวนหุ้นของบริษัทมีสิทธิเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญได้ ในหนังสือร้องขอต้องระบุประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด เมื่อผู้ถือหุ้นยื่นคำร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญแล้ว ให้กรรมการเรียกประชุมโดยพลัน ถ้าและกรรมการไม่เรียกประชุมภายใน 30 วัน นับแต่วันยื่นคำร้อง ผู้ถือหุ้นทั้งหลายที่ยื่นคำร้องหรือผู้ถือหุ้นอื่นๆ รวมกันได้จำนวนดังกล่าว จะเรียกประชุมเองก็ได้ ม.1174 วรรคสอง เมื่อเรียกประชุมแล้ว ต้องมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นได้จำนวน 1 ใน 4 แห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อยจึงจะปรึกษากิจการของบริษัทได้ ม.1178

ารเรียกประชุมใหญ่ ม.1175 แก้ไขใหม่

-การประชุมใหญ่ต้องมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นที่มีชื่อในทะเบียนทุกคนก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทำการดังกล่าวนั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ ให้ระบุสถานที่วันเวลาและสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกาากัน และในกรณีที่มีคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้ระบุข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมติด้วย ม.1175 วรรคสอง

-การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันฝ่าฝืนกฎหมาย ต้องขอเพิกถอนภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันลงมติ ม.1195

การเรียกประชุมใหญ่ ผู้ถือหุ้น ต้องทำอย่างไร? ป.พ.พ. ม. 1151ม. 1175 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3413/2560 ข้อความในหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดให้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายมุ่งประสงค์ให้คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เป็นการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นของบริษัททราบล่วงหน้า นอกจากจะแจ้งว่าบริษัทจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ในวัน เวลา และสถานที่ใดแล้ว ยังกำหนดให้แจ้งถึงสภาพกิจการที่จะได้ประชุมกัน และหากเป็นการเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษก็ต้องระบุข้อความที่จะให้ลงมติอีกด้วย เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะประชุมกันได้อย่างเต็มที่ สำหรับสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันซึ่งจะต้องระบุไว้ในคำบอกกล่าวนั้น คือเรื่องหรือกิจการที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหรือกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้น และไม่จำต้องเป็นเรื่องเฉพาะสภาพการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หรือต้องเป็นเรื่องที่ต้องลงมติพิเศษเท่านั้น เมื่อพิจารณาสำเนาหนังสือขอเชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 แล้ว เห็นได้ว่า ได้ระบุถึงสภาพแห่งกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติเพียง 3 เรื่อง โดยระบุไว้เป็นวาระที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีวาระเรื่องการพิจารณาถอดถอนกรรมการของจำเลยที่ 1 ส่วนวาระที่ 4 ระบุว่าพิจารณาเรื่องอื่น (ถ้ามี) นั้น ไม่เป็นการระบุถึงสภาพกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติ ทั้งผู้ถือหุ้นไม่มีโอกาสเตรียมตัวที่จะมาสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เนื่องจากไม่ทราบว่าจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติในเรื่องใดบ้าง หรือกล่าวได้ว่าวาระการประชุมเรื่องอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งในเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1151 ได้กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะถอดถอนได้ แสดงว่าเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นได้ว่าเป็นการกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นเนื่องจากเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอำนาจบริหารกิจการและดูแลผลประโยชน์แทนตน ผู้ถือหุ้นจึงชอบที่จะได้รับทราบโดยการแจ้งถึงเรื่องดังกล่าวล่วงหน้าเพื่อได้เตรียมตัวก่อนเข้าร่วมพิจารณาในที่ประชุม การที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ในวาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ โดยไม่มีวาระเรื่องการถอดถอนโจทก์ดังกล่าวในคำบอกกล่าวเรียกประชุม เป็นการพิจารณาและลงมตินอกวาระหรือเรื่องที่กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การลงมติของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย ม.1185

-ผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้อที่ลงมติ ผู้ถือหุ้นคนนั้นจะออกเสียงลงคะแนนในข้อนั้นไม่ได้ ตามบทบัญญัติมาตรา 1185 ปัญหาว่าการลงมติแต่งตั้งกรรมการ ผู้ถือหุ้นจะออกเสียงลงคะแนนให้ตนเป็นกรรมการนั้น เป็นเพียงส่วนได้เสียธรรมดา ไม่ใช่ส่วนได้เสียพิเศษ ผู้ถือหุ้นจึงออกเสียงให้ตนเองเป็นกรรมการได้ ฎ.1246/2520

-ผู้ถือหุ้นลงมติให้บริษัทชำระหนี้แก่ตนในฐานะเจ้าหนี้คนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ ฎ.575/2539

การลงมติพเศษ ม.1194

-การใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำโดยมติพิเศษ ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติในเรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน 

-กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องลงมติพิเศษได้แก่ 

1.การตั้ง เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ

2.การเพิ่มทุน

3.การออกหุ้นใหม่โดยใช้เป็นอย่างอื่นนอกจากตัวเงิน

4.การลดทุน

5.การเลิกบริษัท

6.การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน

7.การแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด

การขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ ม.1195

-เหตุเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ของบริษัท คือ มีการนัดเรียก หรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท

-ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้เพิกถอน คือ กรรมการหรือผู้ถือหุ้น และกำหนดเวลาร้องขอ ภายใน 1 เดือน นับแต่วันลงมติ

-ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาล ผู้ร้องฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหลายคดี ทำให้ผู้ร้องยังไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากทายาทผู้ครอบครอง จึงไม่อาจจัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นได้ เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ยังต้องรอผลคดีที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกก็ต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของทายาทเพื่อดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดก ที่ทรัพย์มรดกของ ก. รวมทั้งหุ้นมรดกในบริษัทผู้คัดด้านตกทอดแก่ทายาทเมื่อ ก. ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการตกทอดของทรัพย์มรดกเท่านั้น ส่วนที่ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการจัดการมรดกเป็นอีกเรื่องซึ่งต้องพิจารณาแยกจากกัน หาใช่การตกทอดของหุ้นมรดกทำให้ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกไม่อาจดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นมรดกแทนทายาทได้ไม่ โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีการแบ่งปันหุ้นมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ก. ทุกคนเป็นเจ้าของรวมในหุ้นมรดกซึ่งยังคงอยู่ในชื่อของ ก. ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จะใช้สิทธิจัดการหุ้นมรดกแทนทายาท อันเป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของกองมรดก ที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกมอบอำนาจให้ ว. เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงคะแนนแทน จึงอยู่ในขอบอำนาจการดำเนินการของผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะอ้างว่าผู้ร้องใช้สิทธิในหุ้นมรดกที่ตกทอดแก่ทายาทแล้วเป็นการละเมิดสิทธิของทายาทหาได้ไม่ ที่ ส. ประธานในที่ประชุมมีคำวินิจฉัยให้ ว. ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เข้าประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่ไม่ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเป็นการลดทอนรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น ทำให้หุ้นในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ก. ปราศจากอำนาจในการออกเสียง ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1182 ที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิออกเสียงในการลงคะแนนเมื่อมีการประชุมผู้ถือหุ้น การลงมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นครั้งพิพาทที่ไม่ให้ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย (ฎ.2947/2560)

บริษัทเลิกกัน ม.1236

1.ถ้าในข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้กรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น

2.ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นไว้เฉพาะกำหนดการลใด เมื่อสิ้นกำหนดการนั้น

3.ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น

4.เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก

5.เมื่อบริษัทล้มละลาย

เหตุที่ศาลจะสั่งให้บริษัทเลิก ม.1237

1.ทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท

2.บริษัทไม่เริ่มทำการภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึง 1 ปีเต็ม

3.การค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้

4.ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึง 3 คน 

-การควบบริษัท จะต้องกระทำโดยมติพิเศษ ม.1238-1243

-การชำระบัญชีของห้างฯ และบริษัท มาตรา 1247-1273

-การจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนหรือบริษัท ม.1254

-การประชุมใหญ่และการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ม.1270

-อายุความ ฟ้องเรียกหนี้สินของห้างหรือบริษัท หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ชำระบัญชี ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ม.1272

Visitors: 174,526
รับว่าความ ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาคดีความ