ซื้อขาย
ทนายความ แนะ ค้าขาย อย่างไรไม่ถูกโกง
-อาชีพค้าขาย ไม่ว่าจะเป็น ค้าขายออนไลน์ ออฟไลน์ โรงงานผลิต จำหน่าย ตัวแทนจำหน่าย ยี่ปั๋วต่างๆ ร้านค้าส่ง ค้าปลีก ต้องรู้กฎหมาย ว่า การซื้อขาย สังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ 20,000 บาท ขึ้นไปต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อ ผู้ต้องรับผิด หรือ วางมัดจำ หรือ ชำระหนี้บางส่วน ถึงจะฟ้องร้องกันได้ (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456) ดังนั้น เมื่อกฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ ผู้ที่จะทำการซื้อขาย ก็ต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าว
-ในระบบของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มจาก ผู้ซื้อขอซื้อ โดยมีใบสั่งซื้อ หรือ ย่อว่า PO หรือ มีใบเสนาราคา เพื่อพิจารณาราคาก่อน เมื่อตกลงกันแล้ว ก็อาจจะทำสัญญาซื้อขายกันอีกครั้ง หรือ ฝ่ายผู้ขาย ก็จะทำการจัดส่งสินค้า โดยมีใบส่งสินค้า ให้ผู้ซื้อเซ็นต์รับ และทำการชำระเงินต่อไป แต่การซื้อขายเงินสด มักจะไม่เกิดปัญหา นะครับ จะมีปัญหากันส่วนมาก ขึ้นศาลกัน ก็จะเป็นกรณี เงินเชื่อ หรือ เครดิต รับของก่อนจ่ายเงินทีหลัง ซึ่งก็เกิดขึ้นจากผู้ขายอยากขายสินค้าออกบ้าง ซื้อขายกันมานานเป็นลูกค้าประจำ หรือ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า อยู่แล้ว จึงยินยอมให้เอาสินค้าไปก่อนได้
ทนายขอแนะนำ ในส่วนที่จะช่วยทำให้ ป้องกัน การผิดนัด หรือ ไม่จ่าย ให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด ดังนี้
1.ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ คู้ค้า ว่ามีประวัติผิดนัด เคยถูกฟ้อง มีปัญหาหนี้สิน หรือไม่
2.ควรให้ คู่ค้า สั่งจ่าย เช็ค เพื่อชำระหนี้สินค้า หากเช็คเด้ง มีโทษจำคุกตามกฎหมายอาญา
3.มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น โฉนดที่ดิน หรือสินทรัพย์อื่นๆ
4.ระมัดระวัง เอกสารต่างๆ ที่ลงนาม หากเป็นลายเซ็นต์ ต้องให้เขียนตัวบรรจงเพื่อป้องกัน การปฎิเสธความรับผิดภายหลัง
5.ในการซื้อขาย ในฐานะตัวแทนจำหน่าย ควรให้ บุคคลค้ำประกัน ไม่น้อยกว่า 2 คน
ทั้งนี้ ทนายของเรียนท่านว่า ข้อแนะนำดังกล่าว เป็นเพียงการป้องกันได้ในระดับหนึ่ง แต่ในการค้า ก็อาจมีปัจจัยอย่างอื่น เช่น การรักษาหรือดูแลลูกค้า ส่วนใหญ่ก็จะไม่เคร่งครัดในเรื่องดังกล่าว เพราะกลัวเสียลูกค้า แต่เมื่อ ลูกค้า ไม่ชำระหนี้ ก็ต้องมาพิจารณาดูว่า เงินที่จะต้อง สูญเสียไป ตั้งแต่ต้นทุนต่างๆ และค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดี ก็คงไม่มี ผู้ประกอบการท่านใด อยากใช้การฟ้องร้องคดี เพราะการเป็นความกัน ต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่าย อย่างน้อยวิธีการดังกล่าวตามที่ทนายได้แนะนำไว้ข้างตน คงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
ปรึกษาคดีความ โทร 094-4928919 ทนายนัตติกร
อายุความซื้อขาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2560 โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไปจากโจทก์ มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/34 (1) ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.3 การชำระเงินระบุว่า จำเลยต้องชำระค่าซื้อทองคำแท่งภายใน 5 วันทำการ และในข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิปิดสถานะการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยได้ทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แสดงว่าการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยกับโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนโดยจำเลยต้องชำระเงินภายใน 5 วันทำการ หากครบกำหนด 5 วันทำการ จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้นับแต่เวลานั้น ส่วนกรณีที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไว้ออกขายนำมาหักจากราคาที่จำเลยสั่งซื้อ เป็นเพียงการดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ทำได้เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยเท่านั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์เพิ่งเกิดในวันที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อออกขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อทองคำแท่งจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 17 ธันวาคม 2555 และวันที่ 11 เมษายน 2556 ตามลำดับ กำหนดชำระราคาภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสั่งซื้อทองคำแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 12 ถึง 16 เมษายน 2556 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเริ่มนับวันทำการวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ถึงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รวมวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดราชการ ดังนั้น วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 23 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ