บังคับคดี
การบังคับคดี
การบังคับคดี คือ การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดำเนินการร้องขอต่อศาล ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการยึด ยายัด ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งหนี้นั้นอาจมีหลายประเภท เช่น หนี้เงิน หนี้กระทำการ งดเว้นกระทำการ หนี้ให้ส่งมอบทรัพย์ ขับไล่ รื้อถอน
วิธีการบังคับคดี การขายหรือจำหน่าย การขายทอดตลาด การขับไล่ การรื้อถอน การอายัดเงินเดือน เงินฝาก อายัดสิทธิเรียกร้องตามสัญญาของลูกหนี้
การบังคับคดีอาจกระทบสิทธิบุคคลภายนอก ซึ่งต้องเข้ามาใช้สิทธิ ขอกันส่วนทรัพย์ ขอเฉลี่ยทรัพย์ ขอขัดทรัพย์
การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4) มีสาระสำคัญดังนี้
1.หลักทั่วไป คือ ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี คำบังคับ การขอบังคับคดี การพิจารณาคำขอบังคับคดี การขอให้ศาลไต่สวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา อำนาจทั่วไปของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี การงดการบังคับคดี การถอนการบังคับคดี การเพิกถอนหรือแก้ไขการบังคับคดีที่ผิดระเบียบ
2.การบังคับคดีในกรณีที่เป็น หนี้เงิน คือ อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดี ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี การยึดทรัพย์สิน การอายัดสิทธิเรียกร้อง การขอให้ศาลบังคับบุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง สิทธิของบุคคลภายนอกและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี การขอเฉลี่ยและเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไป การขายหรือจำหน่าย การตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการแทนการขายหรือจำหน่าย การทำบัญชีส่วนเฉลี่ย เงินค้างจ่าย
3.การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง
4.การบังคับคดีในกรณีที่ให้ขับไล่ คือ การบังคับคดีในกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง การบังคับคดีในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก หรือธัญชาติ หรือขนย้ายทรัพย์สิน ออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง
5.การบังคับคดีในกรณีที่ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ
6.การบังคับคดีในกรณีได้มาซึ่งทรัพย์สินที่มีทะเบียน
7.การบังคับคดีในกรณีที่ขอให้ศาลสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษา
8.การบังคับคดีในกรณีมีการประกันในศาล