หน้าแรก

ตัวอย่างคดีศาลฎีกายกฟ้อง จำเลยชนะคดี (ข้อหาร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย *เหตุยกฟ้อง *คำซัดทอด การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน)
ข้อเท็จจริง ตามวันและเวลาเกิดเหตุ ขณะที่ผู้ตายขับรถยนต์ไปตามถนนจนถึงที่เกิดเหตุ มีคนร้ายขับรถยนต์ของกลางแซงรถยนต์ของผู้ตายทางด้านขวา แล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งอยู่ด้านหน้าข้างคนขับใช้อาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายของกลางยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย ปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานชัดแจ้ง มีแต่พยานแวดล้อมที่เจ้าพนักงานตำรวจนำมาเชื่อมโยงปะติดปะต่อ ทั้งกระบวนการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น จำเลยที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนด้วยความไม่สมัครใจ
ศาลฎีกา เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางในขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตาย โจทก์คงมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ให้การได้ความว่า วันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของกลางไปรับจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของกลาง โดยจำเลยที่ 1 นั่งอยู่ด้ายหน้าข้างคนขับ ไปยังหน้าวัด จำเลยที่ 1 ลงจากรถยนต์ไปรับเมทแอมเฟตามีนแล้วกลับขึ้นรถ จากนั้นจำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อนายออยให้มารับเมทฯ ยังสถานที่นัดหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบเมทฯให้นายออยแล้ว จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ขับรถไปยังบ้านเช่าของจำเลยที่ 2 เพื่อนำเมทไปเก็บไว้ ระหว่างทางนายโน๊ตโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 1 เพื่อขอซื้อเมทฯ จำเลยที่ 1 ให้นายโน๊ตไปรอที่หน้าโรงเรียน ต่อมาขณะจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของกลางถึงบริเวณวงเวียน จำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า รถยนต์มาสด้า ขับช้าแปลกๆ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของกลางไปโรงเรียนวัดเมืองใหม่แล้วจำเลยที่ 1 ส่งมอบเมทฯให้นายกล้า ขณะนั้นจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่ารถยนต์มาสด้าคันเดิมขับผ่านมาช้าๆ จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ขับตามมาเรื่อยๆ โดยไม่ต้องแสดง จนกระทั่งจำเลยที่ 1 เกิดความระแวงเรื่องที่จำเลยที่ 1 มีเมทฯ อยู่ในรถว่ากลุ่มนายโน๊ตที่เคยติดเงินจำเลยที่ 1 จะขับรถมาทำร้ายจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นคนใจร้อนและมีอาวุธปืนอยู่ในกระเป๋าด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ขับแซงรถยนต์มาสด้า ขึ้นไปจำเลยที่ 1 จึงลดกระจกลงขณะผ่านไปด้านหน้ารถ จำเลยที่ 1 จึงใช้อาวุธปืนยิงไปบริเวณตัวถังรถ แล้วจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ขับรถหลบหนี *คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน *แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาดห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวบอกเล่าถึงความเป็นไปในการกระทำความผิด *มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นผิด แล้วให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพัง *คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้ *แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยชั่งน้ำหนัก *พยานบอกเล่า *พยานซัดทอด *หรือพยานที่จำเลยไม่มีโอกาศถามค้านนั้น *ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 227/1 *สำหรับคดีนี้ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีและไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะมีพนักงานสอบสวน เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่การให้การชั้นสอบสวนมิใช่พยานหลักฐานที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย อันถือว่าเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่น กรณีไม่ใช่พยานหลักฐานสนับสนุนคำซัดทอด
** คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มีเหตุผลหนักแน่นหรือไม่ โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้สืบสวน เบิกความเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า การสืบสวนยืนยันได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข... พยานตรวจสอบการใช้หมายเลขโทรศัพท์พบว่าช่วงเดือนเมษายนมีการโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข...บ่อยครั้ง หลังจากนั้นพยานขอข้อมูลจาก ผู้ให้บริการเครือข่ายหมายเลขโทรศัพท์ พบว่า ผู้ลงทะเบียนใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงท้ายด้วย... คือ นางสาว น. อดีตภรรยาของจำเลยที่ 2 และพบว่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวใช้งานร่วมกับโทรศัพท์ 2 เครื่อง ต่อมาพยานสะกดรอยตาม นางสาว น.พบว่าชีวิตประจำวันไม่สอดคล้องกับการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข... พยานจึงเชื่อว่า นางสาว น. ไม่ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข... จากนั้นพยานทำแผนผังข้อมูลเครือข่ายพบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวใช้ติดต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ นางสาว น. ด้วย และยังใช้ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข...ของจำเลยที่ 1 พยานมีความเห็นว่าผู้ใช้โทรศัพท์ดังกล่าวต้องมีความสนิทสนมกับนางสาว น. และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าว หลังจากนั้นพยานตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุพบว่า มีความสัมพันธ์กับหมายเลขจำเลยที่ 1 โทรมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บริเวณใกล้เคียงกันและสอดคล้องกับรถยนต์ที่ขับผ่านก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในรถคันดังกล่าว ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 2 พร้อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งหมายเลขโทรศัพท์ตรงกับที่พยานตรวจสอบ จึงสรุปว่า จำเลยที่ 1 เดินทางมากับจำเลยที่ 2 ช่วงก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ
***เห็นว่า คำเบิกความของเจ้าพนักงานผู้สืบสวนดังกล่าวได้มาจากการวิเคราะห์และตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของอดีตภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงทะเบียนใช้งาน โดยโจทก์ไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของ เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวน ให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข... ของนางสาว น. ทั้งปรากฎว่า *ตามรายงานการสืบสวน โทรศัพท์ยี่ห้อง OPPO รุ่น A 7 ,VIVO รุ่น Y 15 2019 *แต่ตามบันทึกจับกุม โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 ระบุว่า VIVO รุ่น 1901 โดยเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ VIVO รุ่น Y 152019 ที่เจ้าพนักงานสืบสวนใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตรวจสอบดังคำเบิกความ ดังนี้ คำเบิกความของเจ้าพนักงานสืบสวนจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข... ที่นางสาว น.อดีตภริยาเป็นผู้ลงทะเบียนใช้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลอื่นมานำสืบเกี่ยวกับการร่วมกระทำผิดอีกเช่นนี้ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุผลอันหนักแน่นไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ว่าเป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 227 วรรคสอง ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
*****คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2567 เล่ม 4 หน้า 94
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments