ฉ้อโกง
ฉ้อโกง
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 342 ถ้าในการกระความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็กหรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลวงลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
มาตรา 344 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานอย่างใดๆ ให้แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นหรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน ต้องระวางโ?ษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 345 ผู้ใดสั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือเข้าอยู่ในโรงแรม โดยรู้ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าอยู่ในโรงแรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 346 ผู้ใดเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตน หรือของบุคคลที่สาม ชักชูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุซึ่งผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอหรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสาระสำคัญแห่งการกระทำของตน จนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 347 ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 348 ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา 343 เป็นความผิดอันยอมความได้
คำพิพากษาย่อ กรณีเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-กล่าวอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้เข้าทำงานราชการได้ ความจริงแล้วไม่สามารถช่วยเหลือฝากทำงานได้ (ฎ.335/2563)
-ใช้เอกสารปลอมไปหลอกลวงกู้ยืมเงิน (ฎ.8013/2561)
-ปลอมสำเนาโฉนดที่ดิน และนำไปวางประกันหนี้เงินกู้ (ฎ.7054/2561)
-ชักชวนให้บุคคลทั่วไปให้นำเงินมาลงทุน ทั้งที่ไม่มีการประกอบกิจการจริง (ฎ.596/2561)
-ทำหนังสือค้ำประกันปลอม เพื่อเสนอรับงาน (ฎ.6404/2560)
-พนักงานนำใบเสร็จค่าอาหารที่เรียกเก็บเงินลูกค้าแล้วมาเขียนวันที่และรายการใหม่ แล้วไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้ารายใหม่ เพื่อไม่ต้องนำเงินจำนวนที่เรียกเก็บใหม่ส่งมอบให้นายจ้าง (ฎ.9093/2558)
-ทำพระพุทธรูปให้มีสนิมขึ้นให้ดูเป็นของเก่า (ฎ.1298/2542)
-โจทก์มอบเงินให้จำเลยโดยไม่ปรากฎว่าเอาไปให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการจัดสรรตำแหน่งให้กระทำมิชอบด้วยหน้าที่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมกระทำผิด (ฎ.13480/2556)
-บอกว่าสามารถทำพิธีสะเดาะเคราะห์รดน้ำมนต์ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน สุขภาพ ความจริงคือไม่สามารถทำได้ (ฎ.1477/2549)
-แอบอ้างขอสำเนาบัตรประชาชนเพื่อไปทำโครงการต่อต้านยาเสพติด ความจริงเอาไปทำสัญญาเช่าบริการโทณศัพท์ (ฎ.21183/2556)
คำพิพากษาย่อ กรณีไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-ให้กู้ยิมเงินและเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา โดยรู้ว่า ผู้กู้นำเงินไปปล่อยเงินกู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ผู้ให้กู้ไม่ใช่ผู้เสียหายฐานฉ้อโกง (ฎ.8013/2561)
-.มอบเงินให้ผู้อื่นเพื่อเอาเงินไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ได้สอบเข้าราชการ ไม่ใช่ผู้เสียหายนิตินัย (ฎ.2077/2560)
-ผู้เสียหายเป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวง (ฎ.778/2560)
-ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ชี้แนวเขตคร่าวๆ พอรังวัดจริงไม่ตรง (ฎ.5566/2558)
-ปฎิบัติตามสัญญาซื้อขายไม่ได้ เป็นผิดสัญญาทางแพ่ง (ฎ.11089/2557)
-นำโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองราคาประเมิณที่ดินมาหลอกเพื่อให้ถอนฟ้อง (ฎ.10577/2557)
-คำรับรองว่าจะชำระหนี้แทน คำมั่นสัญญาที่จะปฎิบัติในอนาคต (ฎ.1229/2536)
-คำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน (ฎ.3074/2539)