หย่า
คดีฟ้องหย่า แบ่งสินสมรส ชู้ เรียกค่าทดแทน
กรณีการหย่าโดยความยินยอม
การหย่าโดยความยินยอม ต้องทำเป็นหนังสือและต้องมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน (มาตรา 1514)
-โจทก์และจำเลยไปทำบันทึกในรายงานประจำวัน ณ สถานีตำรวจ มีข้อความว่าจะหย่าร้างกัน ลงลายมือชื่อในบันทึก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ลงลายมือชื่อด้วย บันทึกดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงการหย่าโดยความยินยอม โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่าได้ (ฎ.3190/2533,3666-3667/2535,592/2538)
-หนังสือสัญญาหย่าทำขึ้น 2 ฉบับ สามีภริยาต่างลงชื่อคนละฉบับ ก็เป็นสัญญาหย่าที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ฎ.1160/2494
-สามีภริยาตกลงยกเลิกสัญญาหย่าแล้ว จะนำมาฟ้องในภายหลังไม่ได้ ฎ.388/2522
-เมื่อทำหนังสือสัญญาหย่ากันโดยถูกต้องแล้ว หากฝ่ายใดไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าในภายหลัง อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องบังคับให้ไปจดทะเบียนหย่าได้ ฎ.1291/2500 ปชญ.,3838/2528,5887/2533
-จดทะเบียนหย่าเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษี แต่ยังอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยา เป็นการแสดงเจตนาลวง การหย่าเป็นโมฆะ ฎ.5690/2552
กรณีการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
การฟ้องคดีหย่า ต้องมีเหตุใดเหตุหนึ่งตามกฎหมาย เช่น อุปการะเลี้ยงดู หญิงอื่น ,สมัครใจแยกกันอยู่เกิน 3 ปี ,ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจทิ้งร้าง ,กระทำการเป็นปฎิปักษ์กันอย่างร้ายแรง ฯลฯ การฟ้องคดี ต้องฟ้องศาลที่ มูลคดีเกิด หรือ ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หลักฐานในการฟ้องคดี เช่น รูปถ่ายชู้ อันมีลักษณะทำนองชู้สาว หลักฐานในเฟสบุ๊ค ไลน์ อีเมล ข้อความที่ติดต่อหากัน ฯลฯ
เหตุฟ้องหย่า ม.1516
1.สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภริยา เป็นชู้หรือมีชู้หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
-แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคมหรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยา แต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อทำธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว และเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ม.1516(1) แล้ว ฎ.6516/2552
-ขณะยื่นฟ้องคดี จำเลยที่ 1 ยังคงอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา อันเป็นพฤติการณ์ต่อเนื่องตลอดมา โจทก์ย่อมยกเป็นเหตุหย่าได้ โดยไม่สำคัญว่าโจทก์จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนฟ้องเกิน 1 ปี หรือไม่ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับ ตามมาตรา 1529 ฎ.4678/2552
2.สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง ก.ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง ข.ได้รับความดูถูกเกลียดชัง ค.ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ หรือความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
-การที่จำเลยทำหนังสือกล่าวโทษต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันชู้สาว เพื่อให้ถูกลงโทษทางวินัย ไม่ถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุฟ้องหย่า ฎ.1761/2534,994/2552
3.สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
-การที่สามีภริยาทะเลาะโต้เถียงกันภายในบ้านแล้วตบตี บีบคอ บาดแผลฟกช้ำ ผื่นแดง บริเวณลำคอและหน้าผาก โดยไม่จำเป็นต้องไปให้แพทย์ตรวจรักษา ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุฟ้องหย่า ฎ.6714/2537
-การที่จำเลยหึงหวงและโกรธที่โจทก์หนีไปมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับหญิงอื่นจึงด่าโจทก์และบุพการีว่า มึงมันเลวเหมือนโครตมึงนั้น ไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือบุพการีเป็นการร้ายแรง เป็นเพียงถ้อยคำน้อยใจ ฎ.5161/2538
4.สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
-จำเลยไปทำงานต่างประเทศ โจทก์ขอร้องให้กลับ จำเลยยืนยันไม่กลับ โดยไม่สนใจที่จะกลับมาดูแลบุตรและอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันท์สามีภริยาอีกต่อไป ถือว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ ฎ.6948/2550
-โจทก์จำเลยทะเลาะกันรุนแรง ถึงขนาดตบตี และให้ออกจากบ้าน และโทรศัพท์ให้บิดาจำเลยมารับไป และไม่ได้ติดต่อกันเกิน 1 ปี การกระทำของจำเลยไม่เป็นการทิ้งร้าง ฎ.4480/2553
-โจทก์ยินยอมให้จำเลยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ไม่ใช่เป็นการจงใจทิ้งร้าง ฎ.2962/2562
-โจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่ จะหาว่าอีกฝ่ายทิ้งร้างไม่ได้ ฎ.780/2502
-การที่สามีภริยาไม่ได้ร่วมเพศกัน แต่อยู่คนละบ้านในบริเวณเดียวกัน ไม่เป็นการทิ้งร้าง ฎ.882/2518
4/1 สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
4/2 กรณีสามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือ แยกกันอยู่ตามคำสั่งศาลเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
-การสมัครใจแยกกันอยู่ ไม่ใช่สมัครใจฝ่ายเดียว ฎ.1412/2543,1633/2542
-การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องโทษจำคุก ไม่ถือว่าเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่ ฎ.5550/2556
5.สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญหรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
6.สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายตามสมควร หรือทำการเป็นปฎิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ฯ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
-การที่จำเลยใช้ปืนยิงโจทก์ เป็นการกระทำปฎิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง ฎ.2504/2552
7.สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
8.สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
-ก่อนจดทะเบียนสมรส ทำสัญญาว่าจะไม่ประฤติตัวผิดจารีตประเพณี ไม่นอกใจ ฝ่ายใดกระทำผิดสัญญายินยอมให้ปรับ 50,000 บาท เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นทัณฑ์บนเรื่องความประพฤติ เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ฎ.2553/2526
-ภริยาทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ดุด่าทำร้ายสามี ต่อมาดุด่าทำร้ายเพราะสามีไปมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับหญิงอื่น ไม่ถือว่าผิดทัณฑ์บน ฎ.5161/2538
9.สามีหรือภริยา เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายขาดได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
10.สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ ข้อยกเว้นของเหตุฟ้องหย่า ม.1517,1518
1.สามีหรือภริยาที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในเหตุหย่าตามมาตรา 1516(1) และ(2)ไม่มีสิทธิฟ้องหย่า
2.ถ้าเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(10) เกิดจากการกระทำของอีก ฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ ม.1517 วรรคสอง
3.ถ้าเหตุฟ้องเนื่องจากการผิดทัณฑ์บนตามม.1516(8) ถ้าเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันของสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้
4.สิทธิฟ้องหย่าหมดไปเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้ให้อภัย
-ก่อนจดทะเบียนสมรส ภริยาทราบว่าสามีมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น ถือไม่ได้ว่าภริยายินยอมหรือรู้เห็นยินยอมด้วย เพราะก่อนจดทะเบียนสมรสภริยาไม่มีสิทธิใดๆในฐานะภริยา ฎ.764/2534
-การยินยอมหรือการให้อภัยต้องแสดงอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือจะไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า ฎ.3190/2549,2473/2556,173/2540,7229/2537, การแบ่งทรัพย์สินเมื่อหย่ากัน ม.1532,1533
เมื่อหย่าแล้ว ให้จัดแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา คนละเท่ากัน
1.ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอม ให้แบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า
2.กรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันหย่า
-คู่สมรสตกลงหย่ากันโดยให้ยกทรัพย์สินแก่บุคคลภายนอก ถือว่าเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เป็นจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่อยู่ในบังคับ มาตรา 525 ที่ต้องจดทะเบียนกับเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญานั้นก็สมบูรณ์ ฎ.38/2537
-แต่ถ้ายกให้กันเอง ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525 การให้ย่อมไม่สมบูรณ์ ฎ.4803/2553
-ถ้าหย่ากันแล้ว แต่ไม่มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ฎ.6080/2540,4561/2544