บุตร ค่าเลี้ยงดู
การใช้อำนาจปกครองบุตร
1.กรณีหย่าด้วยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
-ถ้าไม่มีข้อตกล ถือว่าทั้งบิดาและมารดา เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ร่วมกัน ฎ.2971/2544
2.กรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
-ศาลจะพิจารณาชี้ขาดว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด และมีอำนาจถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ และสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ และให้อีกฝ่ายจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ไม่ต้องดูว่าเป็นการเกินคำขอหรือไม่ ฎ.6471/2548,8087/2543,7249/2546
-การสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครอง ถ้าปรากฎว่าประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองโดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ ม.1521
-การเริ่มคดีขอเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ทำเป็น คำร้อง แบบไม่มีข้อพิพาท หรือ คำฟ้อง ก็ได้ ฎ.4681/2552
-ฎ.515/2560 การที่โจทก์ทั้งสองไม่มาดูแลเอาใจผู้เยาว์ ไม่ช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดู และไม่มาเยี่ยมผู้เยาว์ตามสมควร ผู้เยาว์แม้รู้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาแต่ไม่รู้สึกว่ามีความสัมพันธ์อบอุ่นใกล้ชืด ตรงกันข้ามกลับหวาดกลัวที่จะต้องไปอาศัยอยู่กับโจทก์ทั้งสอง ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ที่ 2 ใช้กำลังหักหาญแย่งชิงตัวผู้เยาว์ทำให้ผู้เยาว์ตกใจหวาดกลัว เครียดและวิตกหากจะต้องไปอยู่กับโจทก์ทั้งสองอาการผิดปกติทางจิตใจแสดงออกให้เห็นได้ทางพฤติกรรม มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่โรคทางจิตเวช จำเป็นต้องจัดการแก้ไขให้สภาพการใช้ชีวิตของผู้เยาว์กลับสู่สภาวะปกติ โดยให้ผู้เยาว์อยู่อาศัยที่ที่เหมาะสม การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้อำนาจเกี่ยวกับตัวผู้เยาว์โดยไม่ชอบ แม้ญาติหรืออัยการไม่ได้ร้องขอ ศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบางส่วนของโจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความผาสุกของผู้เยาว์ จึงเห็นสมควรให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสองเฉพาะที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตามป.พ.พ.มาตรา 1567(1)และตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง
-ฎ.452/2560 โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้โจทก์มีอำนาจปกครอง ด.ญ.จ.แต่เพียงผู้เดียวพร้อมทั้งให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์คืนโจทก์ เป็นการเรียกบุตรคืนโดยอาศัยอำนาจปกครองบุตรตามที่โจทก์กับจำเลยทำบันทึกท้ายทะเบียนหย่า จำเลยฟ้องแย้งขอให้ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยต้องจ่ายไป หลังจากที่ทราบผลการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมว่าจำเลยไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเป็นบิดาของ ด.ญ.จ.ฟ้องแย้งส่วนนี้เป็นฟ้องแย้งที่อาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างพิจารณาคดีโดยชำระแก่โจทก์ให้ชำระค่าเสียหายเป็นคนละเรื่องกับฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พรบ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
1.กรณีหย่าด้วยความยินยอม ให้ทำความตกลงในสัญญาหย่าว่าทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นจำนวนเท่าใด ม.1522 วรรคหนึ่ง
2.กรณีหย่าโดยคำพิพากษา หรือ สัญญาหย่าไม่ได้กำหนด ให้ศาลเป็นผู้กำหนด ม.1522 วรรคสอง
-ถ้าฝ่ายที่ปกครองบุตรออกค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็ฟ้องให้อีกฝ่าย แบ่งส่วนความรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมได้ ฎ.2697/2548
สิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ม.1567
1.กำหนดที่อยู่ของบุตร
2.ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
3.ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
4.เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
-มารดา มีสิทธิฟ้อง บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกบุตรผู้เยาว์ได้ ฎ.3461/2541
-ในกรณีที่บิดามารดาตกลงหย่าด้วยความยินยอม และให้ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ฝ่ายผู้ใช้อำนาจมีสิทธิฟ้องเรียกบุตรผู้เยาว์จากอีกฝ่ายหนึ่งได้ ฎ.5136/2537
.....การถอนอำนาจปกครอง ม.1582
เหตุที่ศาลมีอำนาจสั่งถอนอำนาจปกครอง คือ ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสวมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งศาล หรือใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ หรือประพฤติชั่ว โดยศาลจะสั่งเพิกถอนเองหรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
-ถ้าไม่มีเหตุดังกล่าว ศาลจะสั่งถอนอำนาจปกครองไม่ได้ แต่สั่งให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองคนเดียวได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 1566(5) ฎ.1002/2537