ละเมิด
ละเมิด
จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายแก่ชีวิตร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นทำละเมิด ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ม.420
-ยืมทรัพย์มาแล้วทำให้ทรัพย์ที่ยืมมาได้รับความเสียหายอาจเป็นได้ทั้งผิดสัญญาและละเมิด ฎ.974/2492
-หลักเกณฑ์ความรับผิดทางวินัยกับความรับผิดทางแพ่งเป็นคนละกรณีกัน ฎ.8414/2552
กระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
-การทำ รวมถึง การละเว้นหน้าที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผลด้วย ผู้กระทำต้องมีหน้าที่กระทำเพื่อป้องผลนั้นด้วย หน้าที่ดังกล่าวอาจเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมาย จากสัญญา หรือเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆ ของตนก็ได้ การละเว้นอาจกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อก็ได้ ฎ.7292/2543
-สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ครบกำหนดแล้ว ผู้เช่าไม่ยอมออก ถือว่าผิดสัญญา และเป็นละเมิดขณะเดียวกัน แต่ถ้าเรียกเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาแล้ว ก็จะเรียกค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดอีกไม่ได้ ฎ.923/2549,3203/2555
-การกระทำบางกรณีเป็นทั้งผิดสัญญาและละเมิด ฎ.11029/2553 จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์โดยเพิ่มเติมจำนวนตัวเลขและตัวหนังสือในเช็คเงินสดที่เรือนจำกลางชลบุรีสั่งจ่ายในนามของจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปเบิกถอนเงินมาจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 1 ใช้เช็คขอเบิกเงินสดถึง 15,558,406 บาท เป็นการใช้เช็คเบิกเงินสดที่มากผิดปกติ เช่นนี้ โดยหน้าที่ตามสัญญาฝากเงินตาม ปพพ.ม.659 วรรคสาม และตามระเบียบภายในของธนาคารจำเลยที่ ๒ พนักงานผู้ทำหน้าที่ตรวจรับเช็คและอนุมัติจ่ายเงินควรที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และพิจารณาด้วยความรอบคอบ และควรที่จะสงสัยถึงขนาดที่ควรจะสอบถามเรือนจำกลางชลบุรี ผู้สั่งจ่ายว่าได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวนมากดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 มาเบิกเงินสดไปจริงหรือไม่ การที่พนักงานของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้สอบถามผู้สั่งจ่าย และยอมจ่ายเงินตามที่ระบุในเช็คดังกล่าวไป ถือได้ว่าเป็็นการละเว้นไม่กระทำการที่จะต้องกระทำ เป็นการผิดสัญญารับฝากเงินและเป็นละเมิดด้วย
-กรมทางหลวงจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบซ่อมแซมก่อสร้างบำรุงรักษาถนนที่เกิดเหตุ ย่อมมีหน้าที่ควบคุมจัดให้มีเครื่องหมายและสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างซ่อมแซมถนน แม้จะจัดให้บริษัทรับเหมาดำเนินการก่อสร้างซ่อมแซม ก็ต้องควบคุมให้บริษัทรับเหมาติดตั้งเครื่องหมายและสัญญาณจราจรขึ้นให้ถูกต้อง ถ้ามิได้ติดตั้งให้ถูกต้องแล้วเกิดความเสียหาย จำเลยย่อมต้องรับผิดต่อผู้เสียหายด้วย ฎ.1975/2528
กระทำต่อบุคคลอื่น
-การเช่าอสังหาริมทรัพย์ ถ้าผู้เช่ายังไม่ได้เข้าไปครอบครองอสังหาฯที่เช่า ผู้เช่าก็ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่ครอบครองทรัพย์ที่เช่า เพราะไม่เป็นการละเมิดต่อผู้เช่า แต่เป็นละเมิดต่อเจ้าของทรัพย์ ฎ.2504/2551
-รถยนต์ที่เช่าถูกทำละเมิด ผู้เช่าได้ซ่อมแซมตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าจึงเสียหาย ฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวและค่าขาดรายได้จากผู้ทำละเมิดได้ ฎ.2885/2534
-หากมีผู้ทำละเมิดทรัพย์สินที่เช่าทำให้ต้องซ่อมแซมใหญ่ ถือว่าเป็นการละเมิดต่อเจ้าของทรัพย์ผู้ให้เช่า ผู้เช่าไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย ฎ.989/2549
กระทำละเมิดต่อสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
-ปิดกั้นทางเดินสาธารณะ เป็นเหตุให้ประชาชนที่ใช้ประโยชน์ทางสาธารณะได้รับความเดือดร้อน ไม่อาจใช้ทางได้ตามปกติ เป็นผู้ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ เป็นผู้ถูกทำละเมิด มีอำนาจฟ้อง ฎ.2559/2532,9183/2551
-ปลูกบ้านบนที่ดินสาธารณะปิดหน้าที่ดิน ทำให้เข้าออกทางสาธารณะไม่ได้หรือไม่สะดวก โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ ฎ.387-388/2550,9671-9675/2544
กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์
--หากมีการกระทำละเมิดต่อผู้เยาว์ ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ใช้อำนาจปกครอง บิดามารดา หรือผู้ปกครองด้วย ฎ.3571/2525,1145/2512
ละเมิด กรณีฝากเงิน ธนาคาร เช็ค
-การฝากเงินธนาคาร ต้องถือว่าเงินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารแล้ว ถ้ามีผู้อื่นถอนเงินของลูกค้าแล้วยักยอกเงินไป ถือเป็นการละเมิดต่อธนาคาร ธนาคารฟ้องให้ผู้ที่ถอนเงินนั้นไปคืนได้ ฎ.291/2547,ฎ.333/2550
-ละเมิด ปลอมเช็ค ฟ้องธนาคาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5111/2560 จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จัดเตรียมเช็คให้โจทก์เพื่อสั่งจ่ายเงินให้แก่คู่ค้าและลูกค้าของโจทก์ โดยเป็นผู้พิมพ์ข้อความในเช็ค เป็นผู้เก็บเช็คนำเช็คเข้าบัญชี และนำเช็คมามอบให้แก่คู่ค้าหรือลูกค้าของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความไว้วางใจและเชื่อใจจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้กระทำการดังกล่าวโดยมิได้มีระบบการตรวจสอบที่ดี เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ปลอมแปลงเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้แก่คู่ค้าและลูกค้า โดยวิธีลบชื่อผู้รับเงินเดิมในช่องจ่าย แล้วพิมพ์ชื่อของตนเองทั้งสองและจำเลยร่วมที่ 3 กับนำเช็คที่ปลอมดังกล่าวทั้ง 48 ฉบับไปเรียกเก็บเงินเสียเอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้สมุดคู่ฝากหรือเช็คไปและนำใบถอนเงินหรือเช็คมาขึ้นเงินกับธนาคารและธนาคารได้จ่ายเงินไปตามใบถอนเงินหรือเช็คนั้น ธนาคารไม่จำต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว ตามข้อ 3 ของคำขอเปิดบัญชีเงินฝาก ทั้งได้ความว่า ตัวอักษรที่พิมพ์เช็คพิพาทนั้นพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าเครื่องเดียวกัน ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าจะมีส่วนที่สามารถลบคำผิดได้อยู่ในตัว จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีโอกาสลบข้อความเดิมในเช็คและพิมพ์ข้อความได้อย่างแนบเนียนโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าเดิม จึงเป็นการยากที่จะสามารถเห็นความแตกต่างของตัวอักษรที่ปรากฏใหม่กับตัวอักษรของข้อความอื่นที่มีอยู่เดิมได้ เมื่อพิเคราะห์ในช่องผู้รับเงินด้วยตาเปล่าจะเห็นได้ว่า ตัวอักษรพิมพ์ชื่อผู้รับเงินกับตัวอักษรจำนวนเงินเหมือนกันและไม่ปรากฏร่องรอยพิรุธที่ทำให้เห็นว่ามีการลบชื่อผู้รับเงินเดิมออกและพิมพ์ทับชื่อผู้รับเงินใหม่ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับเงินดังกล่าวจึงไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า อันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ในข้อสำคัญ การที่พนักงานของจำเลยที่ 2 จ่ายเงินตามเช็คทั้ง 48 ฉบับให้แก่ผู้นำเช็คมาเรียกเก็บเงิน จึงไม่เป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็คคืนแก่โจทก์
ละเมิด กรณีสัญญาเช่า
-สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว แต่ผู้เช่าไม่ยอมออกจากทรัพย์ที่เช่า ผู้ให้เช่าไม่ยอมจ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ไม่เป็นละเมิด ฎ.1523/2535,ฎ.3921/2535
ละเมิด กรณีถูกฟ้องคดี โดยไม่ชอบ
-การฟ้องคดี แม้เป็นการใช้สิทธิทางศาลที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่หากกระทำโดยไม่สุจริต เจตนาให้ผู้ถูกฟ้องเสียหาย เป็นการใช้ศาลเป็นเครื่องกำบัง เป็นการละเมิด ฎ.7191/2551,1812/2552
-การกระทำโดยความยินยอมไม่เป็นละเมิด
-ยินยอมให้แพทย์ทำการรักษา หมายถึง แพทย์ต้องรักษาไปตามมาตฐานแห่งวิชาชีพของแพทย์ด้วย ฎ.6092/2552
-รับโอนที่ดิน โดยเจ้าของที่ดินเดิมยิมยอมให้สร้างรั้วรุกล้ำ มีสิทธิให้ถอนรั้วออกไป ถ้าไม่รื้อถอนรั้วออกไป เป็นการละเมิด ฎ.4490/2542
-หญิงยิยยอมร่วมประเวณีกับชายโดยถูกชายหลอกลวงว่าจะเลี้ยงดูเป็นภริยา ไม่เป็นละเมิด ฎ.576/2488,1971/2517
ละเมิด กระทำโดยไม่ชอบ
-จำเลยที่ 4 รู้ว่าโจทก์ไม่ได้รับเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบแต่กลับมีเจตนานำชื่อโจทก์มาลงไว้ในป้ายประกาศบริเวณที่ก่อสร้างว่าโจทก์เป็นสถาปนิก การกระทำของจำเลยที่ 4 และในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยไม่ชอบเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์(ฎ.1191/2560)
.จงใจหรือประมาทเลินเล่อ
-คำพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย โดยไม่ได้ระบุว่าให้ชำระโดยนำมาวางศาล ก็ต้องชำระที่ภูมิลำเนาของจำเลย แต่โจทก์นำเงินมาวางศาล จำเลยไม่รู้จึงไปยึดทรัพย์ของโจทก์อีก ไม่เป็นละเมิด (ไม่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ) ฎ.3050/2540
-ฟ้องผิดคนโดยไม่ตรวจสอบว่าลูกหนี้ของตนจริงหรือไม่ก่อน ซึ่งโจทก์แจ้งแก่จำเลยแล้วว่าไม่ได้เป็นหนี้ จำเลยไม่ตรวจสอบว่าเป็นลูกหนี้ของตนจริงหรือไม่ กลับขู่ว่าจะฟ้องร้อง โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความตรวจสอบข้อเท็จจริฃและอื่นๆ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นละเมิด ฎ.976/2543,6040/2551
-แพทย์รักษาคนไข้ โดยสอบถามอาการคนไข้ทางโทรศัพท์จากพยาบาล ทำให้การรักษาผิดพลาด เป็นประมาทเลินเล่อ เป็นละเมิด ฎ.6092/2552
-แพทย์ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษด้านศัลยกรรมผ่าตัดคนไข้ ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องแจ้งให้คนไข้ทราบถึงขั้นตอนการรักษา ระยะเวลา และกรรมวิธีในการรักษาให้คนไข้ทราบ มิฉะนั้นเป็นละเมิด ฎ.292/2542
-บริษัทผู้รับเหมา มีหน้าที่ซ่อมแซมถนน ไม่ติดเครื่องหมายเตือน ดังนั้น หน่วยงานราชการ และผู้รับเหมา รับผิดร่วมกัน ฐนละเมิด ฎ.399/2546,1506/2516,3057/2530,769/2513
-เจ้าพนักงานตำรวจขับรถยนต์ของโจทก์เก็บรักษาไว้เป็นของกลาง โดยนำไปเก็บไว้ริมถนนนอกสถานีตำรวจ ไม่จัดให้มีผู้ดูแลรักษา มีคนร้ายลักทรัพย์สินไป เจ้าพนักงานตำรวจต้องรับผิด ฎ.3015/2530,7975/2549
-พนักงานรักษาความปลอดภัย ตรวจบัตรรถยนต์เข้าออกศูนย์การค้า ไม่ใช้ความระมัดระวัง ทำให้รถยนต์ลูกค้าหาย ห้าง และ พนักงานรักษาความปลอดภัย และนายจ้าง ต้องร่วมรับผิด ฎ.5398/2538,4223/2542,5259/2551,11605/2553
-ธนาคารต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อว่าเหมือนกับของผู้ฝากหรือไม่ มิฉะนั้นเป็นประมาทเลินเล่อ เป็นละเมิด ฎ.1795/2541,880/2546
-ครูสอนวิชาพละศึกษาลงโทษให้นักเรียนวิ่งมากจนเกินไป ในขณะอากาศร้อนและมีแสงแดดแรง เด็กนักเรียนหัวใจวายตาย แม้เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อน ถือว่าเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย ฎ.5129/2546
-จำเลยประกอบกิจการโรงงานส่งเสียงดัง ส่งเกลิ่นเหม็น ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน ขอให้หยุดส่งเสียงดังหรือกลิ่นเหม็นได้ แต่ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น ฎ.8309/2548
-จำเลยจับตัวผู้ตายไปกักขังทรมานร่างกายทารุณร่างกายและจิตใจ ผู้ตายจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ถือเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย จึงต้องรับผิดในความตายของผู้ตาย ฎ.4904/2548
-การปลูกอาคารสูงบัง จนบ้านผู้อื่นไม่ได้รับลมและปสงสว่างจากภายนอกพอสมควร เป็นละเมิด ฎ.2949/2526 ปชญ.
-แต่ถ้าอยู่ในย่านการค้าที่มีความเจริญมาก ที่ดินมีราคาแพง แม้จะปลูกสร้างอาคารสูงบังบ้านผู้อื่น ไม่เป็นละเมิด ฎ.3815/2540
-นายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางที่จ้าง ม.425
-นายจ้างมีสิทธิไล่เบี้ยลูกจ้าง ม.426
-ตัวการต้องรับผิดกับตัวแทนในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนได้กระทำไปในกิจการที่ได้กระทำการแทนตัวการ ม.427
-ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง
-ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง การตอกเสาเข็ม ผู้ว่าจ้างต้องรับผิด ฎ.1942/2543,963/2535,3382/2554
-ความรับผิดของบิดามารดา ผู้อนุบาล ต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ หรือผู้วิกลจริตในผลละเมิดที่ที่ผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตได้กระทำ เว้นแต่บิดามารดาหรือผู้อนุบาลจะพิสูนจ์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ม.429
-ความรับผิดของครู อาจารย์ นายจ้าง ซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์หรือชั่วครั้งชั่วคราว ต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน หากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ม.430
-บุคคลหลายคนก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกระทำละเมิดบุคคลเหล่านั้นต้องร่วมกันรับผิดเพื่อความเสียหายนั้น แม้ไม่รู้ตัวได้แน่ว่าผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดก่อให้เกิดความเสียหายนั้นด้วย ม.432
-ความเสียหายเกิดขึ้นจากสัตว์ เจ้าของหรือผู้รับเลี้ยง ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ฝ่ายที่ได้รับความเสียหาย ฯ ม.433
-ความเสียหายเกิดขึ้นจากโรงเรือน เนื่องจากปลูกสร้างไว้ชำรุดบกพร่อง บำรุงรักษาไม่เพียงพอ ผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ม.434
-ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากของตกหล่นจากโรงเรือน ม.436
-ความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะฯ ม.437
-ผู้ครอบครองยานพาหนะนั้นต้องในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดเหตุ ถ้าเจ้าของยานพาหนะไม่ได้อยู่ในขณะเกิดเหตุ ไม่ใช่ผู้ครอบครองยานพาหนะ ไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย ฎ.2659/2524,5544/2552,5679/2545,6248/2541
ค่าสินไหมทดแทน
-ค่าสินไหมทดแทน ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด ม.438 วรรคหนึ่ง
ค่าสินไหมทดแทนในกรณีทำให้เขาตาย
1.ค่าปลงศพ ม.443 วรรคแรก
2.ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นๆ ม.443 วรรคแรก
3.ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย 443 วรรคสอง
4.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย 443 วรรคสอง
5.ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ม.443 วรรคสาม
6.ค่าขาดแรงงาน ม.445
ค่าสินไหมทดแทนกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายอนามัย ม.444-446
1.ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป ม.444 วรรคหนึ่ง
2.ค่าเสียความสามารถประกอบการงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ม.444 วรรคหนึ่ง
3.ค่าขาดแรงงาน ม.445
4.ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน 446
....ละเมิดชื่อเสียง จัดการเพื่อให้ชื่อเสียงกลับคืนดี ม.447
อายุความละเมิด ม.448
-อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
-ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 5 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3462/2560การที่จำเลยจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย อ. รวมทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยบางส่วน ในฐานะเป็นอธิการบดีซึ่งทำการแทนมหาวิทยาลัย อ. มิได้กระทำเป็นส่วนตัว เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. ที่ทำให้มหาวิทยาลัย อ. จำต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดทางวินัย รวมถึงสาเหตุของการเผยแพร่ใบปลิวและความวุ่นวายที่เกิดจากการชุมนุมปราศรัยของโจทก์กับพวก เพื่อให้ทราบความจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย อ. และปกป้องประโยชน์ของทางราชการย่อมถือเป็นการให้ข่าวสารข้อมูลของทางราชการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2529 ให้อำนาจจำเลยไว้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งในมูลละเมิดแก่โจทก์ได้ เพราะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง